เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 11 พฤศจิกายน 2565 โดย Natthida Wongpaeng จำนวนผู้เข้าชม 1799 คน
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 มทร.ล้านนา นำโดยผศ.ว่าที่ร้อยโทสุรพิน พรมแดน หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU พร้อมคณะ ได้ติดตามผลการดำเนินงานภายใต้โครงการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม ผ่านกลไก Pre-Talent Mobility ประจำปีงบประมาณ 2565
โครงการ โหลดเทียมสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาด 5 กิโลวัตต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรจักร เมืองใจหัวหน้าโครงการ ร่วมกับ บริษัทดอยปูหมื่น จำกัด ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
ภายใต้โครงการนี้นายกัญจน์ นาคเอี่ยม นักศึกษาผู้ร่วมโครงการ ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้าของโครงการให้ทราบ โดยมี นายพยุงศักดิ์ ไชยกอ ผู้ดูแลสถานประกอบการและคณะสมาชิกชุมชน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนดอยปู่หมื่น พาเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนชาดอยปู่หมื่น แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยวิสาหกิจชุมชนดอยปู่หมื่น แหล่งชุมชนแปรรูป ชา และกาแฟ อีกทั้งเป็นสถานที่เที่ยวนำร่องต้นแบบเส้นทางการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำโดยการนำแนวคิด BCG มาบูรณาการกับการท่องเที่ยวสีเขียวจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ที่พักผ่อนหย่อนใจสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชนชาของดอยปู่หมื่น ได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกของฝากของขวัญจากใจชาวไทยมอบแด่ผู้นำและผู้แทนเอเปค ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (APEC Third Senior Oficials’ Meeting-SOM 3 and Related Meetings) ระหว่างวันที่ 16 ถึง 31 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมแชงกรีล่าเชียงใหม่ที่ผ่านมาอีกด้วย และชาปู่หมื่น ยังได้รับการคัดเลือก ในการใช้เป็นชาเสิร์ฟ Welcome drink แสดงถึงมิตรไมตรีในการต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ อีกด้วย
โครงการนี้นักวิจัยได้มีการทดสอบการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 5 กิโลวัตต์โดยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในชุมชน และพบว่าไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง จากปัญหาทางเทคนิคในการควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าเกิน ความเร็วรอบต่ำ ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่นำไปทดสอบเกิดการชำรุดเสียหาย และส่งผลให้ระบบการแปรรูปชายังไม่สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงมีการสร้างโหลดเทียมที่ทำหน้าที่สำหรับทดสอบประสิทธิภาพสูงสุดของเครื่องกำเนิด และมีหน้าที่สำหรับแบ่งสัดส่วนในการใช้ไฟฟ้าของโหลดปกติและโหลดเทียมเพื่อรักษาประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและใช้งานร่วมกับเครื่องกำเริดไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาด 5 กิโลวัตต์ให้แก่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา