เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 14 กุมภาพันธ์ 2566 โดย Natthida Wongpaeng จำนวนผู้เข้าชม 1091 คน
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 กลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรพิน พรมแดน หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาตร์ SPU พร้อมคณะ เข้าร่วมการประชุมตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการ RUCL รอบ 4 เดือน ประจำปี 2565 และสำรวจโจทย์ความต้องการร่วมกับสถานประกอบการเพื่อต่อยอดงานวิจัย ณ สถานประกอบการ โครงการแพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพยากรผู้มีศักยภาพของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อปฏิรูประบบการพัฒนากำลังคนของประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2565 (Reinventing University) ภายใต้กิจกรรมโครงการ Platform การเตรียมความพร้อมและพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) ภายใต้โจทย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna) รอบที่ 2 โดยการแก้ไขปัญหาโจทย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อล้านนาสร้างสรรค์ หมายถึง “การรักษา อนุรักษ์และพัฒนาด้วยการสร้างสรรค์วัฒนธรรมล้านนา เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มจากสินค้า บริการ หรือการท่องเที่ยวจากต้นทุนทางภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมล้านนา มีการสร้างและรวบรวมองค์ความรู้พร้อมใช้ เพื่อนำไปทำให้ประโยชน์ต่อชุมชนให้สามารถนำไปต่อยอดด้วยการประยุกต์ บูรณาการกับการออกแบบรสนิยมวิถีชีวิตสมัยใหม่ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมสมัยและเติบโตด้วยตนเองได้”
โดยโครงการล้านนาสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาการผลิตผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมี ผศ.ดร.ชินานาฏ วิทยาประภากร หัวหน้าโครงการ ร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรตาลกลาง บ้านตาลกลาง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางบัวจีน มืดโห้ง หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจ เป็นผู้พาเยี่ยมชมและแนะนำ บ้านบัวจีน ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้า ที่มีการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าแบบวิถีโบราณ เนื่องจากวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรตาล เป็นพื้นที่คนเมืองที่มีอาชีพหลักเกี่ยวกับการทอผ้า ที่มีการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าแบบวิถีโบราณจากรุ่นสู่รุ่น และมีการรับจ้างล้างเส้นด้าย กรอด้าย ย้อมสีเส้นได้ ขึ้นเครือ ทอผ้า ตัดเย็บ และจากวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยจึงทำให้รายได้ลดลง อีกทั้งไม่มีผู้สานต่อวัฒนธรรมการทอผ้า เนื่องจากคนรุ่นใหม่มองว่ายุ่งยาก และใช้เวลานานกว่าจะได้เงิน จึงทำให้วิถีชีวิตนี้เริ่มเลือนหายไป
ปัจจุบันจึงมีการจัดกลุ่มขึ้นมาในชื่อ บ้านบัวจีน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมการทอผ้าโดยกระบวนการวิธีของชุมชนที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งยังเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ตั้งขึ้นภายในชุมชน ร่วมจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อคงอนุรักษ์ วิถีการทอผ้าจากชุมชนไว้ให้ลูกหลาน หรือคนรุ่นใหม่ได้รู้จักต่อไป
ภายใต้โครงการ ผศ.ดร.ชินานาฏ วิทยาประภากร หัวหน้าโครงการได้รายงานความก้าวหน้าและสรุปการดำเนินโครงการ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับวิสาหกิจชุมชน โดยหัวหน้าโครงการได้มาทีส่วนร่วมในการเป็นสื่อกลางเพื่อขอทุนสนับสนุนในการพัฒนาบ้านบัวจีน และนำความรู้เข้ามาช่วยอบรม การพัฒนาทักษะของคน พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอพื้นถิ่นให้สีธรรมชาติติดบนเส้นด้ายฝ้ายได้มากขึ้น โดยใช้สารประจุบวกและมอร์แดนท์ธรรมชาติ โดยอาศัยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาทักษะในการผลิตผ้าและสิ่งทอพื้นถิ่นให้กับสมาชิกกลุ่ม จัดทำข้อมูลวัฒนธรรมการแต่งกายพื้นเมืองในอำเภอฮอด รวมทั้งจัดทำระบบข้อมูลของศูนย์เรียนรู้เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจและเกิดองค์ความรู้ให้สมาชิกในชุมชนและกระตุ้นให้คนในชุมชนหันมาสนใจและร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติให้คงอยู่สืบไป
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา