เผยแพร่เมื่อ : พุธ 9 กรกฎาคม 2568 โดย Natthida Wongpaeng จำนวนผู้เข้าชม 89 คน
เมื่อวันที่ 7–9 กรกฎาคม 2568 เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในฐานะ Talent Mobility Clearing House ได้เข้าร่วมการอบรมโครงการ Professional Coordinator: โปรแกรมพัฒนาผู้ประสานงานโครงการระดับมืออาชีพ ณ อาคารเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โครงการนี้จัดขึ้นภายใต้ โครงการการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) โดยมีระยะเวลาดำเนินกิจกรรมระหว่างเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม 2568
โดยโครงการอบรม Professional Coordinator: โปรแกรมพัฒนาผู้ประสานงานโครงการระดับมืออาชีพ จัดขึ้นเพื่อยกระดับบทบาทและศักยภาพของผู้ประสานงานโครงการ Talent Mobility ให้สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยพัฒนาความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และสร้างเครือข่ายผู้ประสานงานโครงการให้สามารถทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและสถาบันอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของผู้ประสานงาน ให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เหมาะสมต่อบทบาทหน้าที่ของตนเอง สามารถดำเนินงานโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาได้อย่างมั่นใจ และตอบสนองต่อความต้องการของทั้งสองภาคส่วนได้อย่างตรงจุด
ในการอบรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้และทักษะจากหัวข้อการอบรมที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งมิติของการคิดวิเคราะห์ การบริหารจัดการ การเข้าใจธุรกิจ การสร้างเครือข่าย และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
เริ่มต้นด้วย การแก้ปัญหา (Problem Solving) ซึ่งผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้วิธีคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ การแยกแยะโครงสร้างของปัญหา เทคนิคการค้นหาสาเหตุที่แท้จริง (Root Cause Analysis) พร้อมทั้งฝึกทักษะการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีแบบแผน เพื่อให้สามารถประเมินทางเลือกต่าง ๆ และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและมีเหตุผล
จากนั้นเป็นเรื่องของ การบริหารโครงการ (Project Management) โดยเน้นหลักการและแนวคิดพื้นฐานในการวางแผนโครงการ ตั้งแต่การกำหนดขอบเขตและเป้าหมาย จัดทำแผนงาน การใช้เครื่องมือและเทคนิคในการบริหารจัดการ การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ ตลอดจนกระบวนการติดตาม ประเมินผล และปิดโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อมาผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับ การวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจและการตลาด (Business and Marketing Trend Analysis) เพื่อทำความเข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมในภาพรวม เรียนรู้หลักการวิเคราะห์ตลาด การติดตามแนวโน้มทางธุรกิจและเทคโนโลยี การประเมินความต้องการของอุตสาหกรรม และวิธีการจับคู่ความเชี่ยวชาญกับความต้องการของสถานประกอบการ รวมถึงเทคนิคการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้มีประสิทธิภาพ
อีกหัวข้อสำคัญคือ การวิเคราะห์ DISC Model ซึ่งช่วยให้เข้าใจลักษณะบุคลิกภาพของตนเองและเพื่อนร่วมงานผ่านมุมมองของ Dominance, Influence, Steadiness และ Compliance รวมถึงกิจกรรมการจำลองสถานการณ์เพื่อฝึกฝนวิธีการรับมือกับการทำงานร่วมกับบุคลิกภาพที่หลากหลาย
ในส่วนของ การสร้างเครือข่าย (Connection) ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่าย การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการจัดทำแผนที่เครือข่าย ฝึกทักษะการเจรจาต่อรอง แก้ไขความขัดแย้ง การสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนการวางแผนและรักษาความสัมพันธ์ในระยะยาว
สุดท้ายคือหัวข้อที่ทันสมัยอย่างยิ่ง ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Integration) ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้พื้นฐานของ AI และแนวทางการนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการโครงการ Talent Mobility เช่น การใช้เครื่องมือ AI ในการจัดการเอกสาร การจับคู่ความต้องการกับบุคลากรวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อติดตามและประเมินผล ตลอดจนการออกแบบและนำเสนอโครงการที่ใช้ AI อย่างสร้างสรรค์
การอบรมในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะเชิงลึกเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายกับผู้ประสานงานจาก Talent Mobility Clearing House ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการทำงานที่ดีร่วมกันอีกด้วย ซึ่งจะเป็นเครือข่ายสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการในอนาคตอีกด้วย
คลังรูปภาพ : Professional Coordinator
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา